เครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง “ไลโก” ใช้ค้นหายานของเอเลียนได้
ทีมนักฟิสิกส์จากหลายสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ เสนอวิธีใหม่ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว โดยใช้อุปกรณ์สังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วง “ไลโก” (Laser Interferometer Gravitational Wave Observatory - LIGO)
เครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงดังกล่าว จะเข้ามาช่วยค้นหาร่องรอยการกระเพื่อมของปริภูมิ-เวลา ทั้งในห้วงอวกาศและบนโลก เมื่อมียานอวกาศที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงซึ่งขับเคลื่อนด้วยวอร์ปไดรฟ์ (warp drive) เดินทางผ่านกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราไป
รายงานวิจัยข้างต้นซึ่งเผยแพร่ทางคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org ระบุว่า อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง ซึ่งเป็นระลอกคลื่นที่เกิดจากการชนปะทะหรือการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงของวัตถุมวลมาก สามารถจะตรวจจับสัญญาณการเคลื่อนที่ของยานอวกาศได้ หากยานนั้นมีขนาดใหญ่ มีความเร็วสูงมากพอ และอยู่ในระยะที่ไม่ห่างไปจากโลกมากนัก
อุปกรณ์สังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วง “ไลโก” ตั้งอยู่ที่เมืองแฮนฟอร์ด รัฐวอชิงตัน และที่เมืองลิฟวิงสตัน ในรัฐลุยเซียนาของสหรัฐฯ มีลักษณะเป็นท่อสุญญากาศรูปตัวแอล (L) โดยแขนแต่ละข้างยาวถึง 4 กิโลเมตร ใช้หลักการแทรกสอดของคลื่นและเลเซอร์ตรวจวัดสัญญาณความเปลี่ยนแปลงภายในท่อสุญญากาศ หากมีคลื่นความโน้มถ่วงผ่านเข้ามา
มีการคำนวณพบว่าอุปกรณ์ไลโกจะตรวจจับสัญญาณการเคลื่อนที่ของยานอวกาศได้ หากยานนั้นมีขนาดใหญ่ยักษ์เท่ากับดาวพฤหัสบดี เคลื่อนที่ด้วยความเร็วอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความเร็วแสง และอยู่ในระยะที่ห่างจากโลกไม่เกิน 326,000 ปีแสง
แม้การตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงจากยานอวกาศที่มีลักษณะเช่นนั้นอาจเป็นไปได้ยาก แต่ทีมผู้วิจัยหวังว่าการสร้างอุปกรณ์สังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงแบบใหม่ที่มีความไวสูงขึ้น จะช่วยให้ตรวจจับยานอวกาศที่มีขนาดเล็กลงมาได้ ตัวอย่างเช่น “ไลซา” (Laser Interferometer Space Antenna - LISA) ขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งจะติดตั้งในอวกาศและเปิดใช้งานในปี 2037
หากสามารถตรวจจับสัญญาณคลื่นความโน้มถ่วงจากยานของเอเลียนได้แล้ว ทีมผู้วิจัยยังหวังว่าจะได้วิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากคลื่นสัญญาณดังกล่าวด้วย
“รูปทรงของคลื่นความโน้มถ่วงที่ตรวจจับได้ ขึ้นอยู่กับวิถีการเคลื่อนที่ของยานอวกาศ ดังนั้นเราสามารถจะประเมินถึงกลไกการขับเคลื่อนยานและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ จากร่องรอยของคลื่นความโน้มถ่วงนี้” ทีมผู้วิจัยระบุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น