วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566

สิ่งมีชีวิตแรกที่เกิดบนดาวอังคาร อาจทำให้ตัวเองต้องสูญพันธุ์

 สิ่งมีชีวิตแรกที่เกิดบนดาวอังคาร อาจทำให้ตัวเองต้องสูญพันธุ์



แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารไม่พบ แต่ข้อมูลใหม่ ๆ จากการสำรวจทำให้พวกเขาเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า อย่างน้อยในอดีตหลายพันล้านปีก่อน จะต้องเคยมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้แน่ แต่พวกมันอาจมีพฤติกรรมทำลายตัวเองจนต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ฉบับวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เมื่อ 3,700 ล้านปีก่อน ดาวอังคารเคยมีจุลินทรีย์ซึ่งกินไฮโดรเจนและขับถ่ายมีเทนออกมา โดยในช่วงเวลาเดียวกันนั้น โลกก็ได้ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตแบบเดียวกันขึ้นมาแล้ว

มีการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ เพื่อทำนายถึงผลกระทบที่จุลินทรีย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกบนดาวอังคารมีต่อสิ่งแวดล้อมบนดาวของมันเอง ทำให้พบว่าหากจุลินทรีย์กินไฮโดรเจนเคยมีอยู่จริง พวกมันจะส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศและการดำรงชีวิตของตนเองเป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากผลกระทบของจุลินทรีย์ชนิดนี้ต่อโลก

เนื่องจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมีองค์ประกอบหลักเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจน ซึ่งต่างก็เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ช่วยกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์เอาไว้ ทำให้ดาวอังคารซึ่งอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลก มีอุณหภูมิอบอุ่นพอที่จะให้กำเนิดชีวิตในยุคราว 4,000 ล้านปีก่อนได้


อย่างไรก็ตามการคำนวณด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ชี้ว่า หากจุลินทรีย์ที่กินไฮโดรเจนและขับถ่ายมีเทนออกมามีอยู่จริงในยุคต้นของดาวอังคาร พวกมันจะทำให้ไฮโดรเจนในชั้นบรรยากาศหมดไปอย่างรวดเร็ว จนดาวอังคารสูญเสียความสามารถในการกักเก็บความร้อน และพื้นผิวดาวเย็นลงจนไม่สามารถมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้อีก

การคาดการณ์ด้วยแบบจำลองชี้ว่า อุณหภูมิพื้นผิวของดาวอังคารที่มีชั้นบรรยากาศปกคลุมเพียงเบาบาง ลดต่ำลงจากเดิมที่อยู่ในช่วง 10-20 องศาเซลเซียส ไปอยู่ที่จุดหนาวเย็นสุดขั้วถึง -57 องศาเซลเซียส ทำให้บรรดาจุลินทรีย์ที่เป็นตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจต้องหนีหนาวลงไปอยู่ในชั้นดินหินลึกจากพื้นผิวถึง 1 กิโลเมตร ก่อนจะสูญพันธุ์ไปในเวลาราว 200-300 ล้านปีหลังจากนั้น

ภายในช่วงทศวรรษหน้า มนุษย์อาจได้มีโอกาสไปเหยียบดาวอังคารและทำการสำรวจหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตโบราณได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่าสมมติฐานข้างต้นเป็นความจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการพบร่องรอยของมีเทนบนดาวอังคาร ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดมาจากสิ่งมีชีวิตแล้ว

ดร. บอริส ซอเทอรีย์ ผู้นำทีมวิจัยจากสถาบัน IBENS ของฝรั่งเศส กล่าวสรุปว่า “องค์ประกอบต่าง ๆ ที่ให้กำเนิดชีวิต สามารถพบได้ทั่วไปในจักรวาล จึงมีความเป็นไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นอยู่เสมอในดวงดาวทั้งหลาย แต่หากสิ่งมีชีวิตนั้นไม่สามารถรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตเอาไว้ได้ ก็จะต้องสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว”

จักรวาลคือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใต้บงการของเอเลียนจริงหรือไม่

 จักรวาลคือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใต้บงการของเอเลียนจริงหรือไม่


บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามกันมานานแสนนานเพื่อตอบคำถามอภิปรัชญาที่ว่า เหตุใดจักรวาลจึงเกิดมาด้วยเงื่อนไขบางอย่างที่เหมาะสมต่อการให้กำเนิดชีวิต และเหตุใดจึงต้องมีกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์และค่าคงที่เฉพาะตัว ซึ่งคอยกำกับให้ดวงดาวโคจรอย่างเป็นระเบียบ จนเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างที่เราเห็นกัน

คำตอบทางฟิสิกส์ทฤษฎีที่ได้ยินบ่อยครั้งก็คือ จักรวาลหรือเอกภพของเราเป็นหนึ่งในพหุภพ (multiverse) จำนวนนับไม่ถ้วนที่ถือกำเนิดขึ้นมาโดยต่างมีกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์เป็นของตนเอง ส่วนคำตอบยอดนิยมในแนวนิยายแฟนตาซีนั้นจะบอกว่า จักรวาลหรือสรรพสิ่งรวมทั้งตัวเราไม่ใช่วัตถุที่มีอยู่จริง แต่ล้วนเป็น “ความเป็นจริงเสมือน” (virtual reality) ที่จำลองขึ้นด้วยโปรแกรมในควอนตัมคอมพิวเตอร์ของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะล่วงรู้ได้ว่า ตัวตนของเราและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นสสาร-พลังงานที่มีอยู่จริง หรือเป็นเพียงข้อมูลดิจิทัลที่เอเลียนควบคุมและจำลองขึ้นกันแน่ ล่าสุดศาสตราจารย์ เมลวิน เอ็ม. ว็อปสัน นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธของสหราชอาณาจักร ได้เสนอวิธีพิสูจน์เพื่อตอบคำถามดังกล่าว โดยระบุในรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร AIP Advances ฉบับเดือนมีนาคม 2022 และในบทความล่าสุดของเขาที่เขียนลงเว็บไซต์ The Conversation ดังต่อไปนี้

หลักฐานที่ชี้ว่าสรรพสิ่งเป็นเพียง “ข้อมูลสารสนเทศ”
ศ. ว็อปสันบอกว่า แนวคิดที่มองว่าโลกและจักรวาลเป็นเพียงแบบจำลองคอมพิวเตอร์นั้น แม้จะฟังดูเพ้อฝันเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่อันที่จริงแล้วมีหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุนแนวคิดนี้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความรู้ในวิทยาการสาขา “ฟิสิกส์สารสนเทศ” (Information Physics)

วิทยาการสาขาดังกล่าวมองว่า ความเป็นจริงทางฟิสิกส์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสสาร พลังงาน หรือปริภูมิ-เวลา โดยพื้นฐานแล้วล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่ประกอบสร้างขึ้นจาก “บิต” (bit) หรือหน่วยของข้อมูลสารสนเทศในลำดับชั้นที่เล็กย่อยที่สุด เหมือนกับที่มีอยู่ในหน่วยความจำและหน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์

ตัวอย่างเช่นอุณหภูมิ (temperature) ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริงในตัวของสสารหรืออะตอมเอง แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่ออะตอมจำนวนมากเคลื่อนไหวพร้อมกัน


เมื่อปี 1989 จอห์น อาร์ชิบาลด์ วีลเลอร์ นักฟิสิกส์ชื่อดังชาวอเมริกันผู้ล่วงลับไปแล้วได้เสนอแนวคิดใหม่ที่ว่า รากฐานของสรรพสิ่งในจักรวาลนั้นคือข้อมูลสารสนเทศ (information) ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยคณิตศาสตร์ทั้งหมด

ต่อมาในปี 2003 นิก บอสตรอม นักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเสนอสมมติฐานที่ว่า มนุษย์เราอาจอาศัยอยู่ในแบบจำลองคอมพิวเตอร์ สมมติฐานข้างต้นนี้ทำให้เซต ลอยด์ นักฟิสิกส์ของเอ็มไอที (MIT) เสนอต่อไปว่า จักรวาลหรือเอกภพทั้งหมดอาจเป็นคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาดยักษ์ก็เป็นได้

โลกเสมือนที่เกิดจากการจำลองด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น มีกลไกการทำงานที่สอดคล้องกับหลักกลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งในกรณีนี้ “บิต” หรือหน่วยย่อยที่สุดของข้อมูลสารสนเทศทำหน้าที่เป็นเสมือนอนุภาค (particle) ดังนั้นภาพของสิ่งต่าง ๆ ที่เรามองเห็นจึงเป็นเพียงการประกอบกันขึ้นของจุดหรือพิกเซล (pixel) ซึ่งเป็นข้อมูลแบบหนึ่งเท่านั้น

กฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ที่เป็นกฎธรรมชาติของสรรพสิ่งซึ่งปรากฏอยู่ทั่วทุกแห่งหน ยังมีลักษณะคล้ายกับรหัสหรือโค้ด (code) ที่แบบจำลองคอมพิวเตอร์จะดำเนินปฏิบัติการหรือประมวลผลตามที่มีผู้เขียนกำกับเอาไว้แล้ว ตัวอย่างเช่นความเร็วแสงซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดในจักรวาลนั้น เหมือนกับความเร็วสูงสุดในการทำงานของคอมพิวเตอร์ซึ่งถูกจำกัดไว้ด้วยความเร็วของหน่วยประมวลผล (processor)

ภาวะที่ข้อมูลมีปริมาณมากล้นเหลือจนท่วมท้นเกินที่ระบบจะรับได้ ย่อมทำให้การประมวลผลของคอมพิวเตอร์ล่าช้าหรือติดขัด เช่นเดียวกับที่ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ระบุว่า เวลาจะเดินช้าลงเมื่อเข้าใกล้หลุมดำซึ่งเป็นวัตถุที่มีมวลมหาศาล

ปรากฏการณ์ความพัวพันเชิงควอนตัม (quantum entanglement) เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ว่าจักรวาลอาจเป็นเพียงความเป็นจริงเสมือน เนื่องจากการที่คู่อนุภาคซึ่งแยกห่างจากกัน สามารถเกิดความเปลี่ยนแปลงตามกันได้ในทันทีอย่างเหลือเชื่อ แม้จะตั้งอยู่ห่างกันไปถึงนับล้านปีแสงก็ตาม

ในกรณีนี้สมมติฐานความเป็นจริงเสมือนมีคำอธิบายว่า การที่คู่อนุภาคสามารถเชื่อมต่อและมีปฏิกิริยาต่อกันได้อย่างฉับพลันโดยไวกว่าความเร็วแสงนั้น สามารถจะเป็นไปได้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการเขียนโค้ดให้ทุกตำแหน่งข้อมูลมีระยะห่างจากหน่วยประมวลผลกลางเท่ากัน 

หลักความสมมูลระหว่างมวล-พลังงาน-ข้อมูลสารสนเทศ

ศ. ว็อปสันได้เสนอวิธีพิสูจน์ว่าสรรพสิ่งคือโปรแกรมคอมพิวเตอร์จริงหรือไม่ โดยใช้หลักความสมมูลระหว่างมวล-พลังงาน-ข้อมูลสารสนเทศ (Mass - Energy - Information Equivalence Principle) ที่เขาคิดค้นขึ้นและตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสาร AIP Advances ตั้งแต่ปี 2019

หลักการข้างต้นถือว่าจักรวาลที่ถูกจำลองขึ้นจะเต็มไปด้วย “บิต” หรือหน่วยย่อยที่สุดของข้อมูลสารสนเทศ (information bits) โดยข้อมูลนี้มีความเท่าเทียมกับมวลและพลังงานซึ่งเป็นสภาพความเป็นจริงพื้นฐานของจักรวาลที่เราคุ้นเคย ดังนั้นหากสามารถตรวจพบข้อมูลหรือโค้ดที่แฝงอยู่ทั่วไปรอบตัวเราในมวลหรือพลังงานได้ ก็จะสามารถยืนยันความถูกต้องของสมมติฐานความเป็นจริงเสมือนได้เช่นกัน

ศ. ว็อปสันมองว่า ที่จริงแล้วข้อมูลสารสนเทศนั้นคือสสารสถานะที่ 5 ของจักรวาล นอกเหนือไปจากของแข็ง, ของเหลว, ก๊าซ, และพลาสมา เขายังได้คำนวณเอาไว้ว่าอนุภาคมูลฐาน 1 หน่วย ในจักรวาลส่วนที่เรามองเห็นและสำรวจไปถึง ควรจะมีข้อมูลสารสนเทศอยู่โดยเฉลี่ย 1.509 บิต

เราอาจทำการทดลองเพื่อหาร่องรอยของข้อมูลสารสนเทศนี้ได้ด้วยการชนอนุภาค ซึ่งเป็นวิธีที่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้ โดย ศ. ว็อปสันเสนอให้ใช้พลังงานสูงเร่งและชนอนุภาคมูลฐานเข้ากับคู่ตรงข้ามของมันหรือปฏิอนุภาค (anti-particle) เพื่อให้ลบล้างและปลดปล่อยข้อมูลภายในออกมากับโฟตอน (photon) หรืออนุภาคของแสงที่จะเกิดขึ้นตามมาในช่วงคลื่นความถี่ที่ ศ. ว็อปสันได้ทำนายเอาไว้แล้ว

นอกจากวิธีพิสูจน์ของศ. ว็อปสัน ซึ่งเขาได้ประกาศระดมทุนสาธารณะมูลค่า 8 ล้านบาทที่เว็บไซต์ indiegogo.com เพื่อนำเงินไปทำการทดลองชนอนุภาคดังกล่าวแล้ว ยังมีวิธีการพิสูจน์อีกแบบหนึ่งของจอห์น บาร์โรว์ นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษผู้ล่วงลับ ซึ่งให้มองหาความผิดพลาด (error) เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปจะต้องมีและโปรแกรมเมอร์จะต้องทำการแก้ไขในทันทีด้วย

หากพบปรากฏการณ์ที่เป็นเสมือนการซ่อมแซมแก้ไขระบบ เช่นผลการทดลองครั้งแรกเกิดขัดแย้งกับผลการทดลองซ้ำครั้งถัดมาในทันที หรือค่าคงที่บางอย่างในธรรมชาติเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน แสดงว่าผู้เขียนและควบคุมโปรแกรมจำลองความเป็นจริงแห่งจักรวาล ได้สร้างข้อมูลสารสนเทศชุดใหม่ที่กำกับ “ความเป็นจริงเสมือน” ขึ้นมาแล้ว

เอเลียนทุกเผ่าพันธุ์เป็นภัยต่อมนุษยชาติ แม้แต่พวกที่ต้องการผูกมิตร

 เอเลียนทุกเผ่าพันธุ์เป็นภัยต่อมนุษยชาติ แม้แต่พวกที่ต้องการผูกมิตร



เมื่อคนเราจินตนาการถึงความเป็นไปได้ที่เอเลียนอาจบุกยึดครองหรือทำลายล้างโลก คนส่วนใหญ่มักมองว่านี่คือภัยคุกคามเดียวที่สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาวจะนำพามาสู่มนุษยชาติได้ 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยล่าสุดที่กำลังจะลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Space Policy กลับพบว่า แม้แต่การติดต่อสื่อสารเพื่อทักทายเชื่อมสัมพันธไมตรีกับเอเลียนเผ่าพันธุ์ที่เป็นมิตร ก็อาจทำให้โลกปั่นป่วนและประสบหายนะจากวิกฤตความขัดแย้งในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้ หากชาติมหาอำนาจต่างแย่งกันเข้าครอบครองช่องทางสื่อสารนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว

รายงานวิจัยดังกล่าวซึ่งขณะนี้เผยแพร่ทางคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org มีชื่อว่า “ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ หากโครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว (SETI) ประสบความสำเร็จ” (Geopolitical Implications of a Successful SETI Program) เขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ 3 คนที่มีความคุ้นเคยกับองค์การนาซาและโครงการ SETI เป็นอย่างดี นำโดยศาสตราจารย์ เจสัน ที. ไรต์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตตของสหรัฐฯ

รายงานวิจัยนี้สนับสนุนข้อสันนิษฐานของบทความ “การค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว: ข้อควรพิจารณาว่าด้วยการเมืองสัจนิยม” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารเดียวกันเมื่อปี 2020 โดยงานวิจัยทั้งสองชิ้นมองว่า ภัยคุกคามจากเอเลียนที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และจะเกิดขึ้นจริงหากเริ่มมีการจับสัญญาณสื่อสารจากต่างดาวได้ ก็คือภัยความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเป็นผลมาจากธรรมชาติที่เห็นแก่ตัวของมนุษย์นั่นเอง

ทีมผู้วิจัยมองว่า อำนาจและผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากการเข้าผูกขาดช่องทางติดต่อสื่อสารกับเอเลียน จะเป็นสิ่งจูงใจให้บรรดาชาติมหาอำนาจพยายามแย่งชิง เพื่อเข้าครอบครองช่องทางสื่อสารนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากอาจเป็นโอกาสเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีระดับสูง รวมทั้งทรัพยากรล้ำค่าอื่น ๆ จากอารยธรรมต่างดาวที่เป็นมิตรและเต็มใจแบ่งปัน จนอาจนำไปสู่ภาวะวิกฤตในเวทีการเมืองโลกหรือแม้แต่สงครามได้


แต่ถึงกระนั้นก็ตาม งานวิจัยชิ้นล่าสุดไม่เห็นด้วยกับงานวิจัยของปี 2020 ตรงที่ว่า สภาพการณ์เลวร้ายที่ชาติมหาอำนาจเข้าต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงช่องทางสื่อสารกับเอเลียนนั้น ถือเป็นสภาพการณ์เดียวที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

งานวิจัยล่าสุดของ ศ. ไรต์ และคณะมองว่า ยังมีสภาพการณ์อื่น ๆ อีกหลายแบบที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หากมนุษย์สามารถจับสัญญาณสื่อสารจากเอเลียนได้จริง พวกเขาไม่เชื่อว่าชาติมหาอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติที่มีความเป็นประชาธิปไตย จะสามารถปกปิดและผูกขาดการติดต่อกับเผ่าพันธุ์ทรงภูมิปัญญาต่างดาวเอาไว้ได้ 

งานวิจัยของ ศ. ไรต์ ให้เหตุผลในเรื่องนี้ว่า เนื่องจากโลกของวิทยาการตะวันตกนั้นเชื่อมต่อและบูรณาการเข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่นและซับซ้อน ด้วยเครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ ที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้สภาพการณ์ต่อสู้แย่งชิงช่องทางสื่อสารกับต่างดาวเกิดขึ้นได้ หากบรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆ และคนในแวดวงวิทยาศาสตร์มีความโปร่งใส แบ่งปันข้อมูลสู่ประชาชนอย่างเพียงพอ

“การปิดกั้นสถานที่วิจัยเกี่ยวกับเอเลียน โดยล้อมรั้วรอบขอบชิดแน่นหนาและวางกำลังทหารรักษาการณ์ ยิ่งทำให้ผู้คนสงสัยและปักใจเชื่อว่า กำลังมีบางสิ่งที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ใหญ่ระดับพลิกโลกเกิดขึ้น ส่งผลให้มีการใช้สายลับสืบหาความจริง และการหักเหลี่ยมเฉือนคมทางการเมืองเพื่อแย่งชิงข้อมูลกันในที่สุด” ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุป 

สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่จะเป็นศัตรูกับมนุษย์ อาจมีถึง 4 อารยธรรมในกาแล็กซีทางช้างเผือก

 สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่จะเป็นศัตรูกับมนุษย์ อาจมีถึง 4 อารยธรรมในกาแล็กซีทางช้างเผือก


สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่จะเป็นศัตรูกับมนุษย์ อาจมีถึง 4 อารยธรรมในกาแล็กซีทางช้างเผือก

ดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ภายในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา อาจมีจำนวนมหาศาลถึงหลายล้านดวง แต่ความเป็นไปได้ที่ "เอเลียน" ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านร่วมดาราจักรเดียวกันจะคิดมุ่งร้ายต่อมนุษย์ โดยยกกองทัพมาบุกโจมตีโลกเหมือนกับในภาพยนตร์นั้น มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใดกันแน่ ?

มีการคำนวณเพื่อประเมินอัตราความเสี่ยงในเรื่องนี้ โดยเผยแพร่ในรายงานวิจัยล่าสุดจากคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org ซึ่งผู้วิจัยคือนายอัลเบอร์โต คาบัลเลโร นักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการจัดการแก้ไขความขัดแย้ง จากมหาวิทยาลัยวีโกของสเปน

นายคาบัลเลโรไม่ใช่นักฟิสิกส์หรือนักชีวดาราศาสตร์ แต่เขาศึกษาเรื่องนี้โดยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์และสถิติ มาคาดการณ์ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ของปัญหาเชิงรัฐศาสตร์ อย่างเช่นประเทศหนึ่งจะตัดสินใจรุกรานอีกประเทศหนึ่งหรือไม่ โดยเขาเชื่อว่าความน่าจะเป็นที่คำนวณได้จากสถานการณ์นี้ อยู่ในระดับเดียวกับโอกาสที่มนุษยชาติจะตัดสินใจออกไปบุกดาวดวงอื่น ทั้งยังอยู่ในระดับเดียวกับความเสี่ยงที่เอเลียนผู้มีอารยธรรมทัดเทียมหรือเหนือกว่ามนุษย์จะตัดสินใจบุกโลกด้วย

เมื่อนับจำนวนประเทศในโลกที่เคยรุกรานโจมตีประเทศอื่นระหว่างปี 1915-2022 ผู้วิจัยพบว่ามีอยู่ทั้งหมด 51 ประเทศด้วยกัน จากนั้นได้ประเมินระดับความเป็นไปได้ ที่แต่ละชาติในกลุ่มดังกล่าวจะสามารถเปิดฉากทำสงคราม โดยคำนวณออกมาเป็นตัวเลขร้อยละของงบประมาณด้านการทหารเมื่อเทียบกับทั้งโลก จึงไม่น่าแปลกใจว่าสหรัฐฯ ซึ่งมีงบการทหารสูงเป็นอันดับหนึ่งถึง 38% ของทุกประเทศรวมกัน ได้เปิดฉากรุกรานชาติอื่นบ่อยครั้งที่สุดถึง 14 หนมาแล้ว

ค่าเฉลี่ยความสามารถในการรุกรานชาติอื่นของทุกประเทศในโลก ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ของมนุษยชาติในการรุกรานอารยธรรมบนดาวดวงอื่น อยู่ที่เพียง 0.028% เท่านั้น เนื่องจากในปัจจุบันเรายังไม่มีความสามารถในการเดินทางข้ามห้วงอวกาศ

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้จะสูงขึ้นอย่างมากในอีก 259 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นยุคที่คาบัลเลโรทำนายโดยการคำนวณตาม "มาตรวัดคาร์ดาเชฟ" (Kardashev Scale) ว่ามนุษยชาติจะยกระดับสู่การเป็นอารยธรรมประเภทที่ 1 ซึ่งมีเทคโนโลยีระดับสูงข้ามห้วงอวกาศได้ ถ้าหากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของโลกเพิ่มขึ้นในอัตราคงที่เหมือนปัจจุบัน



นอกจากนี้ เมื่อนำตัวเลขความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะทำสงครามรุกรานอารยธรรมบนดาวดวงอื่น ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับความเสี่ยงที่เอเลียนจะยกกองทัพมาบุกโลก ไปคำนวณร่วมกับจำนวนอารยธรรมของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว ซึ่งองค์กร SETI เคยประมาณการไว้ว่ามีอยู่อย่างน้อย 15,785 อารยธรรมในกาแล็กซีทางช้างเผือก ผู้วิจัยพบว่าจะมีอารยธรรมต่างดาวประเภทที่ 0-1 อยู่ 4 กลุ่มด้วยกัน ที่มีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคามต่อโลกและมนุษย์

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เอเลียน 4 อารยธรรมนี้จะบุกโจมตีโลกมีอยู่น้อยมาก โดยมีความเป็นไปได้ต่ำกว่าเหตุอุกกาบาตยักษ์ชนโลกที่ล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์ถึง 100 เท่า ซึ่งอุกกาบาตยักษ์ที่ว่านี้มีโอกาสชนปะทะกับโลกได้เพียง 1 ครั้ง ในรอบ 100 ล้านปีเท่านั้น

"ถึงจะมีเอเลียน 4 จำพวกที่อาจบุกโจมตีโลก แต่นั่นคือการคำนวณตามหลักความเป็นไปได้พื้นฐานเท่านั้น อันที่จริงเราไม่อาจทราบถึงความรู้สึกนิดคิด ทั้งไม่อาจคาดเดาถึงโครงสร้างของสมอง วัฒนธรรม ระบบคุณค่า รวมทั้งความสามารถเห็นอกเห็นใจผู้อื่นของเอเลียนได้เลยว่ามีอยู่หรือไม่" ผู้วิจัยกล่าวสรุป

เครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง “ไลโก” ใช้ค้นหายานของเอเลียนได้

 เครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง “ไลโก” ใช้ค้นหายานของเอเลียนได้


ทีมนักฟิสิกส์จากหลายสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ เสนอวิธีใหม่ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว โดยใช้อุปกรณ์สังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วง “ไลโก” (Laser Interferometer Gravitational Wave Observatory - LIGO)

เครื่องตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงดังกล่าว จะเข้ามาช่วยค้นหาร่องรอยการกระเพื่อมของปริภูมิ-เวลา ทั้งในห้วงอวกาศและบนโลก เมื่อมียานอวกาศที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงซึ่งขับเคลื่อนด้วยวอร์ปไดรฟ์ (warp drive) เดินทางผ่านกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราไป

รายงานวิจัยข้างต้นซึ่งเผยแพร่ทางคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org ระบุว่า อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง ซึ่งเป็นระลอกคลื่นที่เกิดจากการชนปะทะหรือการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงของวัตถุมวลมาก สามารถจะตรวจจับสัญญาณการเคลื่อนที่ของยานอวกาศได้ หากยานนั้นมีขนาดใหญ่ มีความเร็วสูงมากพอ และอยู่ในระยะที่ไม่ห่างไปจากโลกมากนัก

อุปกรณ์สังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วง “ไลโก” ตั้งอยู่ที่เมืองแฮนฟอร์ด รัฐวอชิงตัน และที่เมืองลิฟวิงสตัน ในรัฐลุยเซียนาของสหรัฐฯ มีลักษณะเป็นท่อสุญญากาศรูปตัวแอล (L) โดยแขนแต่ละข้างยาวถึง 4 กิโลเมตร ใช้หลักการแทรกสอดของคลื่นและเลเซอร์ตรวจวัดสัญญาณความเปลี่ยนแปลงภายในท่อสุญญากาศ หากมีคลื่นความโน้มถ่วงผ่านเข้ามา



มีการคำนวณพบว่าอุปกรณ์ไลโกจะตรวจจับสัญญาณการเคลื่อนที่ของยานอวกาศได้ หากยานนั้นมีขนาดใหญ่ยักษ์เท่ากับดาวพฤหัสบดี เคลื่อนที่ด้วยความเร็วอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความเร็วแสง และอยู่ในระยะที่ห่างจากโลกไม่เกิน 326,000 ปีแสง

แม้การตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงจากยานอวกาศที่มีลักษณะเช่นนั้นอาจเป็นไปได้ยาก แต่ทีมผู้วิจัยหวังว่าการสร้างอุปกรณ์สังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงแบบใหม่ที่มีความไวสูงขึ้น จะช่วยให้ตรวจจับยานอวกาศที่มีขนาดเล็กลงมาได้ ตัวอย่างเช่น “ไลซา” (Laser Interferometer Space Antenna - LISA) ขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งจะติดตั้งในอวกาศและเปิดใช้งานในปี 2037

หากสามารถตรวจจับสัญญาณคลื่นความโน้มถ่วงจากยานของเอเลียนได้แล้ว ทีมผู้วิจัยยังหวังว่าจะได้วิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากคลื่นสัญญาณดังกล่าวด้วย

“รูปทรงของคลื่นความโน้มถ่วงที่ตรวจจับได้ ขึ้นอยู่กับวิถีการเคลื่อนที่ของยานอวกาศ ดังนั้นเราสามารถจะประเมินถึงกลไกการขับเคลื่อนยานและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ จากร่องรอยของคลื่นความโน้มถ่วงนี้” ทีมผู้วิจัยระบุ

เอเลียนอาจใช้วิธีสื่อสารด้วยควอนตัม ติดต่อกันทางไกลข้ามห้วงจักรวาลได้

 เอเลียนอาจใช้วิธีสื่อสารด้วยควอนตัม ติดต่อกันทางไกลข้ามห้วงจักรวาลได้


เอเลียนอาจใช้วิธีสื่อสารด้วยควอนตัม ติดต่อกันทางไกลข้ามห้วงจักรวาลได้

ผลคำนวณทางคณิตศาสตร์ล่าสุดพบว่า อนุภาคของแสงหรือโฟตอน (photon) สามารถจะเดินทางไปในห้วงอวกาศระหว่างดวงดาวได้ไกลถึงหลายแสนปีแสงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ถูกรบกวนจนสูญเสียสมบัติทางควอนตัมของตัวมันเองไปเสียก่อน

ความเป็นไปได้นี้ชี้ว่า วิธีสื่อสารด้วยอนุภาคควอนตัมสามารถจะช่วยให้มนุษย์ในอนาคตติดต่อกันทางไกล รับส่งข้อมูลระดับข้ามกาแล็กซีทางช้างเผือกหรือข้ามห้วงจักรวาลได้ ทั้งยังช่วยในการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว ซึ่งอาจส่งสัญญาณสื่อสารด้วยควอนตัมมาเป็นเวลานานแล้วก็เป็นได้

ศาสตราจารย์ อรชุน บาเรรา และ ดร. เจมี กัลเดรอน ฟิเกรัว นักฟิสิกส์ทฤษฎีจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์รายละเอียดการค้นพบข้างต้นลงในวารสาร Physical Review D โดย ศ.อรชุน ระบุว่าที่ผ่านมาการทดลองสื่อสารด้วยควอนตัมบนโลกนั้นไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

"สถานะควอนตัมของอนุภาคโดยทั่วไปนั้นบอบบางมาก อ่อนไหวง่ายต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอก ซึ่งจะทำลายสถานะควอนตัมของมันลงหลังเดินทางไปได้เพียงแค่ระยะสั้น ๆ " ศ. บาเรรากล่าว "แต่ห้วงอวกาศมีความหนาแน่นของสสารต่ำกว่าบนโลกมาก ทำให้เราสงสัยว่าอนุภาคควอนตัมจะเดินทางได้ดีกว่าและไกลกว่าในห้วงอวกาศนอกโลกหรือไม่"



นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองจึงได้คำนวณว่า อนุภาคของแสงหรือโฟตอนในรังสีเอกซ์ (X-ray) จะสามารถเดินทางไปในห้วงอวกาศได้ไกลแค่ไหน โดยไม่สูญเสียสมบัติทางควอนตัมของตัวอนุภาคเองไปเสียก่อน

ผลปรากฏว่าโฟตอนของรังสีเอกซ์สามารถจะเดินทางได้ไกลถึงหลายแสนปีแสงหรือมากกว่า ซึ่งเพียงพอที่จะข้ามกาแล็กซีทางช้างเผือกที่เราอาศัยอยู่ได้ โดยโฟตอนตัวนั้นยังคงมีความเสถียรทางควอนตัมอยู่

ทีมผู้วิจัยยังชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว ซึ่งสามารถท่องเที่ยวไปในห้วงจักรวาลด้วยเทคโนโลยีระดับสูง จะใช้การสื่อสารด้วยควอนตัมติดต่อพูดคุยกันระหว่างดวงดาวต่าง ๆ หรืออาจเคยส่งสัญญาณควอนตัมมายังโลกแล้วก็เป็นได้ ดังนั้นการค้นหาสัญญาณที่สื่อสารด้วยควอนตัมจึงเป็นโอกาสใหม่ ซึ่งอาจนำเราไปพบกับมนุษย์ต่างดาวในที่สุด

เมื่อปี 2017 นักวิทยาศาสตร์จีนและออสเตรียในโครงการทดลองควอนตัมระดับอวกาศ (QUESS) ประสบความสำเร็จในการสร้างช่องทางรับส่งข้อมูลด้วยอนุภาคควอนตัมผ่านดาวเทียม คิดเป็นระยะทาง 1,200 กิโลเมตร โดยใช้หลักการพัวพันเชิงควอนตัม (Quantum entanglement) ที่ระบุว่าคู่ของอนุภาคซึ่งมีความพัวพันกัน จะมีปฏิกิริยาตอบสนองตามกันในทันทีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงกับอนุภาคใดอนุภาคหนึ่ง ไม่ว่าทั้งสองจะอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกันไปเท่าใดก็ตาม

อย่างไรก็ดี การรับส่งข้อมูลผ่านการสื่อสารด้วยควอนตัมนั้นไม่อาจเดินทางได้เร็วกว่าแสง ดังนั้นการติดต่อสื่อสารข้ามห้วงอวกาศอันไกลโพ้นจะต้องใช้เวลานานหลายปี ทั้งยังต้องใช้คอมพิวเตอร์ควอนตัมประสิทธิภาพสูงในการเข้ารหัสและถอดรหัสข้อมูลควอนตัมที่ใช้สื่อสารด้วย

เราไม่เคยพบมนุษย์ต่างดาวเพราะอารยธรรมโลกไม่น่าสนใจ

 เราไม่เคยพบมนุษย์ต่างดาวเพราะอารยธรรมโลกไม่น่าสนใจ


หลายคนคงเคยตั้งข้อสงสัยว่า ในเมื่อจักรวาลเต็มไปด้วยดวงดาวที่สามารถให้กำเนิดชีวิตและหล่อเลี้ยงอารยธรรมระดับสูงได้นับไม่ถ้วน เหตุใดมนุษย์จึงยังไม่เคยประสบพบพานสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวเลยสักครั้ง ทั้งยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการติดต่อจากพวกเขาในเร็ววันนี้ด้วย

แนวคิดย้อนแย้งแบบข้างต้นเรียกว่า “ปฏิทรรศน์ของเฟอร์มี” (Fermi Paradox) ซึ่งที่ผ่านมามีผู้พยายามอธิบายให้คำตอบถึงสาเหตุที่เราไม่พบมนุษย์ต่างดาวเสียทีอยู่หลายสมมติฐานด้วยกัน

ล่าสุด ดร. อัมรี วานเดล นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลม (HUJI) ของอิสราเอล ได้เสนอแนวคิดที่เจ็บแสบสำหรับมนุษยชาติเอาไว้ว่า เหตุที่เราไม่ได้รับการมาเยือนหรือแม้แต่ได้รับสัญญาณติดต่อสื่อสารจากเพื่อนร่วมเอกภพเลยนั้น เนื่องจากอารยธรรมของมนุษย์โลกอยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไร้สัญญาณที่บ่งบอกถึงสติปัญญาในขั้นที่ทัดเทียมกับเอเลียนนั่นเอง

มีความเป็นไปได้ว่า ที่ผ่านมาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวได้ทำการสำรวจระบบสุริยะและกาแล็กซีของเราแล้ว พวกเขาอาจได้พบกับสิ่งมีชีวิตหลายชนิดก็จริง  แต่ก็ไม่มีเผ่าพันธุ์ใดที่ดูจะมีสติปัญญาในระดับที่น่าสนใจพอจะเสวนาด้วย

ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่า "รถมินิบัส" พุ่งเฉียดโลกในระยะใกล้กว่าดาวเทียมบางดวง

 ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่า "รถมินิบัส" พุ่งเฉียดโลกในระยะใกล้กว่าดาวเทียมบางดวง


ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่ารถมินิบัส มีชื่อเรียกว่า 2023 BU ได้พาดผ่านปลายสุดทางใต้ของแถบอเมริกาใต้ไปเมื่อเวลา 7.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย

ดาวเคราะห์น้อยพุ่งผ่านโลกไปโดยอยู่ห่างจากโลก 3,600 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าใกล้มาก

เหตุการณ์นี้สะท้อนว่า ยังมีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่อีกหลายดวง ที่ยังซ่อนตัวและเร้นกายอยู่ใกล้โลก และนักดาราศาสตร์ยังไม่ได้ค้นพบพวกมัน

ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ถูกพบโดยนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่น ชื่อ เจนนาดีย์ โบริซอฟ ที่สำรวจห้วงอวกาศอยู่ในคาบสมุทรไครเมีย ที่รัสเซียผนวกรวมเข้ามาจากยูเครนเมื่อปี 2014  

ยิ่งสำรวจและสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ก็ยิ่งทำให้นักดาราศาสตร์ทราบข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ ทั้งขนาด และวงโคจรของมัน

ผลการตรวจสอบอย่างละเอียด ทำให้นักดาราศาสตร์มั่นใจว่า ดาวเคราะห์น้อยจะไม่พุ่งชนโลกแน่นอน

อย่างไรก็ดี มันได้พุ่งผ่านโลกเข้ามาใกล้ในระยะที่ใกล้กว่าวงโคจรของดาวเทียมเพื่อการโทรคมนาคม โดยดาวเทียมเพื่อการโทรคมนาคม จะอยู่ห่างจากโลกราว 36,000 กิโลเมตร

โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนดาวเทียมนั้นจึงน้อยมาก 


ห้วงเวลาที่ดาวเคราะห์น้อยอยู่ใกล้โลกมากที่สุด คือ 7.27 น. ตามเวลาในประเทศไทย 

และแม้ดาวเคราะห์น้อย 2023 BU มีวิถีพุ่งตรงมายังโลกจริง ก็เชื่อว่าความเสียหายต่อโลกจะไม่มากนัก

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาด 3.5 -8.5 เมตร ซึ่งเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ดาวเคราะห์น้อยจะเผชิญกับความร้อนมหาศาล จนแตกสลายไปในชั้นบรรยากาศ หลงเหลือเพียงลูกไฟขนาดเล็ก พุ่งผ่านเหนือน่านฟ้าให้เราเห็นเท่านั้น

หากเทียบกันแล้ว อุกกาบาตเชเลียบินสค์ ที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในพื้นที่ทางตอนใต้ของรัสเซีย เมื่อปี 2013 จะมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่า เพราะมีขนาดเกือบ 20 เมตรเลยทีเดียว ทำให้การเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกของมัน ก่อให้เกิดคลื่นกระแทก ที่ทำให้กระจกแตก

นักวิทยาศาสตร์จากองค์กรบริหารการบินและอวกาศ หรือ นาซา ระบุว่า วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ได้ถูกเปลี่ยนวิถีไป จากการพุ่งเข้ามาใกล้โลก เพราะแรงโน้มถ่วงของโลกได้ดึงดาวเคราะห์น้อยเข้ามาใกล้ และเปลี่ยนเส้นทางของมันในอวกาศไปแล้ว

“เมื่อมันเข้ามาใกล้โลก วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวเคราะห์น้อยที่แต่เดิมแทบเป็นวงกลม และใกล้เคียงกับวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก ที่ใช้เวลา 359 วัน เพื่อโคจรรอบดวงอาทิตย์” นาซา ระบุในแถลงการณ์

“การได้เข้ามาใกล้โลก ทำให้วงโคจรของดาวเคราะห์น้อยยืดออกไป ราวครึ่งหนึ่งของระยะทางระหว่างวงโคจรของโลก และวงโคจรของดาวอังคาร... ตอนนี้ ดาวเคราะห์น้อยจะโคจรรอบดวงอาทิตย์เปลี่ยนเป็น 425 วัน” 

ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ พยายามมากขึ้นเพื่อควานหาดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ และอาจเป็นอันตรายต่อโลกได้ เหมือนกับ ดาวเคราะห์น้อย “สัตว์ประหลาด” ขนาดยักษ์กว้างถึง 12 กิโลเมตร ที่เคยพุ่งชนโลกและทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ 

อย่างไรก็ดี ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์มาก ๆ เหล่านี้ ได้ถูกค้นพบหมดแล้ว จึงหมดความวิตกไปได้ระดับหนึ่ง แต่ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กกว่า 150 เมตรนั้น ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้เรายังหาไม่เจออยู่

สถิติชี้ว่า มนุษย์ค้นพบดาวเคราะห์เหล่านี้เพียง 40% เท่านั้น


ดาวเคราะห์ขนาดเท่านั้น ยังเพียงพอจะสร้างความเสียหาย ทำลายเมืองได้ หากพุ่งชนโลก

ศาสตราจารย์ ดอน พอลลักโก จากมหาวิทยาลัยแห่งวอร์วิค สหราชอาณาจักร บอกกับบีบีซีว่า “มันยังมีดาวเคราะห์น้อยอีกมาก ที่อาจพาดผ่านวงโคจรโลก ที่ยังรอเราค้นพบ”

“มนุษย์เพิ่งค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2023 BU ซึ่งมีขนาดเท่ารถมินิบัส ทั้งที่มันคงพาดผ่านโลกมาแล้วหลายพันครั้ง โดยครั้งนี้มันเข้าใกล้โลกในระยะเพียง 3,600 กิโลเมตร หรือคิดเป็น ระยะทาง 1% ของระยะห่างของโลกกับดวงจันทร์ ถือว่าเรียกว่าเฉียดโลกก็ว่าได้”

“ยังมีดาวเคราะห์น้อยอีกมากที่มนุษย์ยังไม่ค้นพบ และอาจมีศักยภาพที่จะทะลวงชั้นบรรยากาศโลก ก่อนพุ่งชนพื้นโลกจนสร้างความเสียหายมหาศาลได้... นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เราอาจต้องเจอสถานการณ์เช่นนั้นสักวันหนึ่ง”

น้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์มีต้นกำเนิดจากดวงอาทิตย์

 น้ำบนพื้นผิวดวงจันทร์มีต้นกำเนิดจากดวงอาทิตย์


หลังจากที่สองปีก่อน องค์การนาซาได้ค้นพบโมเลกุลน้ำในพื้นผิวของดวงจันทร์ ล่าสุดมีการวิเคราะห์เบื้องลึกจนพบว่า โมเลกุลน้ำที่แทรกอยู่ในฝุ่นดินดังกล่าว อาจเกิดขึ้นจากอนุภาคมีประจุไฟฟ้า “ไฮโดรเจนไอออน” ในลมสุริยะ ที่พัดมาจากดวงอาทิตย์นั่นเอง

ทีมนักธรณีเคมีจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เผยผลวิเคราะห์ตัวอย่างฝุ่นดินบนพื้นผิวดวงจันทร์ (regolith) จากสถานที่ลงจอดของยานสำรวจในภารกิจฉางเอ๋อ 5 (Chang’e 5) โดยพบว่าลมสุริยะที่พัดกระหน่ำใส่พื้นผิวของดวงจันทร์ ได้ทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุบางอย่างและสร้างพันธะกับอะตอมของออกซิเจน จนเกิดเป็นโมเลกุลน้ำขึ้นมา

รายงานวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร PNAS ระบุว่า มีการใช้อุปกรณ์วิเคราะห์สารด้วยรังสีเอกซ์ ตรวจสอบเม็ดฝุ่นที่ได้จากชั้นหินบะซอลต์ภูเขาไฟอายุน้อย บริเวณละติจูดตอนกลางของดวงจันทร์

ทีมผู้วิจัยพบว่าบริเวณเปลือกนอกของเมล็ดฝุ่นมีร่องรอยการสัมผัสกับลมสุริยะอย่างรุนแรง เห็นได้จากความเข้มข้นของโมเลกุลไฮโดรเจนที่มีสูงถึง 1,116 - 2,516 ส่วนในล้านส่วน ทั้งยังมีปริมาณไอโซโทปของไฮโดรเจน เช่น ดิวเทอเรียม อยู่น้อยมาก สอดคล้องกับสัดส่วนของแร่ธาตุที่พบในลมสุริยะพอดี



ก่อนหน้านี้ มีการค้นพบแหล่งน้ำบนดวงจันทร์ในหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นน้ำแข็งในแอ่งหลุมลึกที่ปกคลุมด้วยเงามืด และที่เป็นโมเลกุลซึ่งถูกกักเก็บไว้ในเม็ดแก้วภูเขาไฟขนาดเล็กจิ๋ว

น้ำบางส่วนของดวงจันทร์นั้นมาจากโลกและจากอุกกาบาตที่พุ่งชน แต่ที่พบในฝุ่นดินบนพื้นผิวซึ่งคาดว่ามีอยู่เป็นปริมาณมหาศาล และอาจนำมาใช้ประโยชน์ในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาวได้นั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าเกิดจากลมสุริยะ 

ทีมผู้วิจัยยังพบว่าแร่ธาตุในฝุ่นดินของดวงจันทร์สามารถเก็บรักษาไฮโดรเจนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่บริเวณละติจูดตอนกลาง รวมทั้งขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวซึ่งมีอุณหภูมิต่ำ

ผลวิเคราะห์ในครั้งนี้ สามารถเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกสถานที่ลงจอดของยานอวกาศ เพื่อทำการสำรวจและตั้งฐานที่มั่นบนดวงจันทร์ในภารกิจครั้งต่อไป โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าพื้นดินของสถานที่นั้นจะมีโมเลกุลน้ำที่สกัดนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างเหลือเฟือ

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2566

จักรวาล คือความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสรรพสิ่ง ตอนที่ 6

เหตุผลที่นักวิทย์ฯเชื่อว่า สักวันเราจะพบสิ่งมีชีวิตโลกอื่น

เผยโฉม 7 ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกที่สุด

ชาติมหาอำนาจ ก้าวสู่สงครามอวกาศ

ยานอวกาศยักษ์ โผล่วงแหวนดาวเสาร์, แมคคินนอน แฮ็กนาซ่าเผยความลับต่างดาว, ...

UFO บนดาวอังคาร, ฐานลับต่างดาวดุลเซ่, ค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกทั่วกาแล็กซี

ปล่องทางเข้าฐานลับบนดวงจันทร์, Project HAARP ควบคุมดินฟ้าอากาศ, เด็กตัวเ...

สุดยอดอารยธรรมโลกโบราณ ตอนที่ 1