วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565

พบ "สารตั้งต้นชีวิต" ในมหาสมุทรบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์

 พบ "สารตั้งต้นชีวิต" ในมหาสมุทรบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯหรือนาซา เผยผลวิเคราะห์ล่าสุดจากข้อมูลที่ยานแคสสินีส่งมาก่อนจบสิ้นภารกิจเมื่อ 2 ปีก่อนว่า ไอน้ำร้อนที่พวยพุ่งขึ้นมาจากมหาสมุทรที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์นั้น มีสารอินทรีย์ชนิดละลายน้ำได้ปะปนอยู่ โดยคุณสมบัติเช่นนี้เพิ่มโอกาสที่สารดังกล่าวจะก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้น

มีการตีพิมพ์รายละเอียดการค้นพบข้างต้น ในวารสารรายเดือนของราชสมาคมดาราศาสตร์แห่งกรุงลอนดอน (Monthly Notices of the Royal Astronomical Society) โดยระบุว่าพบสารอินทรีย์ใหม่ ๆ หลายชนิดที่มีทั้งไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นองค์ประกอบ ในไอน้ำร้อนที่พวยพุ่งขึ้นมาจากมหาสมุทรใต้พื้นผิวน้ำแข็งของเอนเซลาดัส

ทีมนักชีวดาราศาสตร์ของนาซาชี้ว่า สารอินทรีย์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการผลิตกรดอะมิโน ซึ่งเป็นโมเลกุลพื้นฐานที่นำไปสู่การสร้างโปรตีน อันเป็น "สารตั้งต้น" ที่ให้กำเนิดสรรพชีวิตบนโลก

ก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบสารอินทรีย์ในไอน้ำร้อนจากเอนเซลาดัสมาแล้ว โดยคาดว่าเป็นสารที่ลอยอยู่บนผิวหน้าของมหาสมุทร เนื่องจากไม่ละลายในน้ำ

แต่ในการค้นพบครั้งนี้ สารอินทรีย์ชนิดใหม่ที่พบล่าสุดมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความหวังว่าสารดังกล่าวจะสามารถลงไปทำปฏิกิริยากับแร่ธาตุที่ปล่องน้ำร้อนก้นมหาสมุทร จนเกิดการสังเคราะห์กรดอะมิโนขึ้นได้ในที่สุด

ทั้งนี้ มหาสมุทรใต้พื้นผิวน้ำแข็งของเอนเซลาดัส ซึ่งมีความกว้างใหญ่ครอบคลุมทั้งดาวและลึกหลายกิโลเมตรนั้น ได้รับความร้อนจากแกนกลางของดาว โดยแรงดึงดูดมหาศาลจากดาวเสาร์บีบให้แกนกลางของเอนเซลาดัสเกิดความร้อนขึ้น

รอยแตกที่ก้นมหาสมุทรของเอนเซลาดัส ปล่อยให้หินหนืดหรือแมกมาไหลออกมาสัมผัสกับน้ำ จนบริเวณดังกล่าวอาจมีอุณหภูมิสูงได้ถึง 370 องศาเซลเซียส และเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้ปล่องน้ำร้อนก้นมหาสมุทรปลดปล่อยไฮโดรเจนออกมา

กระบวนการนี้สามารถให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต และเกื้อหนุนให้จุลชีพบางชนิดดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์ เช่นเดียวกับจุลชีพผลิตมีเทนซึ่งอาศัยอยู่ที่ก้นมหาสมุทรบนโลก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น